รวม 10 ทรรศนะคนดัง มองโจทย์ร้อน 'Single Gateway'

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1367
หางาน,สมัครงาน,งาน,รวม 10 ทรรศนะคนดัง มองโจทย์ร้อน 'Single Gateway'

วินาทีนี้คำว่า “Single Gateway” ดังระงมและถูกพูดถึงไปทั่วรัฐไทย หลายคนค้าน หลากคนหนุน ส่วนคุณมีความเห็นเช่นไร วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รวบรวมข้อมูล และทัศนคติของนักวิชาการ นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญคนดัง บุคคลเหล่านี้มีมุมมองต่อ “Single Gateway” อย่างไรบ้าง โปรดใช้วิจารณญาณของตนเองพิจารณาให้ถ่องแท้...

1 : โซเชียลถล่มรัฐได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด! แฉเบื้องหลังมือมืดทำเว็บฯ ล่ม
นายนรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า Single Gateway จะมีผลดีในแง่ที่รัฐบาลต้องการจะปิดกั้นหรือระงับยับยั้งเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ที่เป็นภัยต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นหมิ่นสถาบัน สื่อลามก เว็บการพนัน Single Gateway จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันการเข้าไปควบคุมเว็บไซต์เหล่านี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

“ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า อินเทอร์เน็ตจะช้าลง ส่วนตัวมองว่า หากออกแบบเทคโนโลยี Single Gateway ให้ออกมาดี จะไม่ทำให้อินเทอร์เน็ตช้าลง” นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ แสดงมุมมอง

“เว็บไซต์ภาครัฐโดนถล่ม ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจว่า คนไทยหลักแสนคนมาเปิดเว็บไซต์แล้วคลิกรีเฟรช แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ และนี่เป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น หากเข้าไปดู Traffic กันจริงๆ แล้ว จะพบว่า Traffic มาจากยุโรปทั้งสิ้น โดยยิงมาจากเนเธอร์แลนด์ ประเทศทางยุโรป เพราะฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าคนไทยกว่าแสนคนเปิดหน้าเว็บแล้วรีเฟรช ส่งผลให้เว็บไซต์ภาครัฐล่ม คือ ผิดโดยสิ้นเชิง แสนคนมาคลิกในเวลาเดียวกันนั้น อันที่จริงแล้วทำอะไรเว็บเหล่านี้ไม่ได้ เพราะอันที่จริงเรื่องนี้มีคนที่เล่นอยู่ข้างหลัง โดยใช้วิธีเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่ต่างประเทศ แล้วยิงถล่มกลับเข้ามาในไทย” นายนรินทร์ฤทธิ์ กล่าวตามข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม Single Gateway คือ คอขวด อะไรก็ตามที่เป็น Single ล้วนเสี่ยงอันตราย เนื่องจากเป็นเป้านิ่งให้เข้ามาถล่มได้ในจุดเดียว และข้อเสียอีกอย่างคือ ถ้าถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง มักจะถูกใช้ในทางที่ผิดเสมอ

 

เว็บกระทรวงไอซีทีโดนโจมตีจนล่ม

2 : เครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ Single Gateway ทำเน็ตช้า 
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การใช้อินเทอร์เน็ต คือ การเชื่อมต่อโครงข่ายแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งเวลาจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเซิฟเวอร์ ต้องเชื่อมต่อผ่านสิ่งที่เรียกว่า international internet gateway (IIG) ซึ่งสำหรับประเทศเล็กหรือประเทศที่ไม่มีผู้ให้บริการมาก มักจะมี IIG เพียงเจ้าเดียว เช่น ลาว โดยรัฐเป็นคนควบคุม เมื่อก่อนประเทศไทยก็ใช้ระบบนี้ โดยมีผู้ดูแล IIG คือ กสท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ หากทุกเจ้าจะต้องต่ออินเทอร์เน็ตออกนอกประเทศจะต้องมาต่อที่นี่

ต่อมาเมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เงื่อนไขหนึ่งที่เจ้าหนี้อย่างไอเอ็มเอฟระบุ ก็คือ การเปิดเสรีโทรคมนาคม ส่งผลให้เกตเวย์ในไทยเพิ่มขึ้นจากเจ้าเดียวเป็นหลายเจ้า ล่าสุด 1-2 ปีก่อน ไอเอสพีเจ้าใหญ่ๆ น่าจะมีเกตเวย์เป็นของตัวเองหมดแล้ว โดยมีอย่างน้อย 12-13 เกตเวย์ ที่วิ่งออกต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่เยอะเมื่อเทียบกับประเทศอย่างอินโดนีเซีย แต่ก็เพิ่มขึ้นมาก 

ทั้งนี้ การควบคุมการไหลเข้า ไหลออก ของข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการควบคุมที่ระดับเกตเวย์ เนื่องจากไม่ว่าอินเทอร์เน็ตภายในประเทศจะเชื่อมกันกี่หมื่นเส้นก็ต้องเชื่อมออกที่จุดเดียว การดัก การบล็อก การปลอม รวมถึงสามารถตรวจสอบข้อมูลที่จุดเดียวสามารถทำได้ง่าย เป็นอย่างที่เอกสารจากที่ประชุม ครม. ระบุไว้ว่า single gateway จะช่วยควบคุมการไหลของข้อมูลจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าล่มก็จะล่มทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ก็มีไม่น้อย ถ้ารัฐทำจริงเชื่อว่าจะทำให้อินเทอร์เน็ตช้าลง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นกับเทคนิคที่ใช้ เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนปล่อย ซึ่งในเอกสารระบุว่าเป็นการเช็กขาเข้า แต่โดยเทคนิคแล้วเช็กได้ทั้งขาเข้าและขาออก

 

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

3 : เพื่อไทยค้าน Single Gateway เชื่อมีแต่เสียมากกว่าดี
เริ่มกันที่ น.อ.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการ Single Gateway เพราะเชื่อว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งในเรื่องของการให้บริการอินเทอร์เน็ตช้าลง และการสื่อสารช่องทางเดียวอาจส่งผลให้อินเตอร์เน็ตล่มทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศจะขาดความมั่นใจ และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ในการใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยอาจขาดโอกาสที่จะยกระดับขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิตอลของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมข้อมูลต่างๆ ของรัฐ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงมีและควรได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากเงื่อนไข ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย

4 : single gateway ฉุดเน็ตไทยช้า ล่ม บริการแพง
นายเทวพจน์ สัมพันธ์ธารักษ์ ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาค วารสาร Telecomasian ได้เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็น single gateway ว่า gateway คือ ประตูเข้าออกอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยสมัยก่อนประตูเข้าออกนี้ถูกผูกขาดโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อมีคณะกิจการกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช. หลังรัฐธรรมนูญ 2540) ทำให้มีการเปิดเสรี มีเอกชนเข้ามาขอใบอนุญาต จนปัจจุบันประเทศไทยมีประตูที่เข้าออกอินเทอร์เน็ตกับต่างประเทศ อยู่ 9 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ เช่น กสท โทรคมนาคม (CAT), ทรู ฯลฯ”

“Single gateway สามารถแบ่งเป็นสองมิติ คือ ประสิทธิภาพและการสอดแนม ในแง่ประสิทธิภาพ หากมี กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ให้บริการแต่เพียงรายเดียว จะทำให้ทุกอย่างช้าและเต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพของอดีตรัฐวิสาหกิจที่ทำงานไม่เป็น ค่าบริการอินเทอร์เน็ตจะแพงขึ้น ความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็ช้าลง และอินเทอร์เน็ตก็จะล่มง่าย” นายเทวพจน์ แสดงทรรศนะ

 

รวมนานาทรรศนะคนดัง มองโจทย์ร้อน 'Single Gateway'

5 : จับไทยเทียบอเมริกา ขนาดมหาอำนาจยังไม่คุมอินเทอร์เน็ต เพื่อความมั่นคง
นายศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย กูรูไอทีจากรายการแบไต๋ไฮเทค โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โครงการ Single Gateway ที่รัฐบาลจะทำ คือ รวบทางออกสู่โลกอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ให้รวมศูนย์เหลือที่เดียว เพื่อเหตุผลในการดักข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น เหมือนประเทศจีน ซึ่งจีนมีประชากรพันล้านคน มีอำนาจต่อรองที่จะทำ Single Gateway เพื่อควบคุมได้ แถมมี Service ทดแทนเต็มไปหมด ผู้ให้บริการทั้งโลกก็อยากจะไปทำธุรกิจในจีนทั้งนั้น ส่วนประเทศไทยมีคนแค่ไม่กี่ล้าน เรียกได้ว่าแทบไม่ได้มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเลย

นอกจากนี้ ความคิดที่จะทำ Single Gateway เพื่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ อเมริกาโดนผู้ก่อการร้ายโจมตี ตั้งแต่เหตุการณ์ 911 ยังไม่เห็นต้องควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อความมั่นคงเลย

6 : single gateway เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น 
ศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า Single Gateway คือ การทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบอินเทอร์เน็ต จำเป็นจะต้องดูในรายละเอียดว่า รูปแบบของการวางระบบ Gateway นั้นเป็นอย่างไร กรณีที่มีประตูเดียวจริงๆ หมายความว่า การไหลเวียนข้อมูลทุกอย่างก่อนจะไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นได้ แต่ต้องผ่านประตูหลักก่อนจึงจะสามารถออกไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาคือ เส้นทางการวิ่งขาดเสถียรภาพ เพราะแต่ก่อนการวิ่งผ่านของข้อมูลมีหลายช่องทาง หากว่าเส้นทางการวิ่งใดมีปัญหาข้อมูลก็สามารถไปวิ่งผ่านประตูทางผ่านอื่นได้

ดังนั้น เมื่อเส้นทางวิ่งมีเพียงทางเดียว ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น เช่น หากประตูทางผ่านที่มีอันเดียวล่ม จะส่งผลให้การวิ่งผ่านของข้อมูลต่างๆ ล่มทั้งระบบ ซึ่งสาเหตุเกิดขึ้นได้หลายวิธี อาทิ ไฟดับบ้าง หรือหากมีผู้ก่อการร้ายมาโจมตี การรวมศูนย์แบบนี้ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น หากจะมีประตูทางผ่านเพียงทางเดียว ก็ต้องการันตีได้ถึงประสิทธิภาพของประตูนั้น ว่าสามารถรองรับการไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ด้วย ดังนั้น ถ้าประตูทางผ่านไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะเป็นผลให้ภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศช้าลงไปด้วย

 

ปนัดดา ดิศกุล

7 : ม.ล.ปนัดดา หวั่น Single Gateway กระทบเศรษฐกิจ
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสการคัดค้าน Single Gateway ว่า เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีเพียงให้ศึกษาข้อเท็จจริงตามที่มีผู้นำเสนอในบริบทของความมั่นคง ยังไม่เคยพูดสักคำว่าจะใช้ระบบดังกล่าว ถึงแม้ระบบ Single Gateway ต้องเจอกับปัญหาความไม่เสถียรหรือถูกแฮกเพียงจุดเดียว จนทำให้โอกาสที่จะกระจายไปทั่วประเทศมีสูง

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ระบบอินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศขาดความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังมีโอกาสที่นักลงทุนอาจจะตัดสินใจย้ายไปใช้บริการนอกประเทศ และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาได้ แต่อย่างไรก็ตามมี Single Gateway ไว้ก็ไม่เสียหลาย

 

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

8 : นพ.ประวิทย์ เชื่อ Gateway เดียวเป็นไปไม่ได้ ย้ำกระทบเอกชนหนัก
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. และกรรมการโทรคมนาคม กทค. กล่าวว่า ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่เคยหยิบยกเรื่อง Single gateway มาคุยกัน แต่หากมีนโยบายจริง อาจยังอยู่ในขั้นตอนการหารือหรือคณะทำงาน ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ายังคงเป็นข้อสั่งการ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นแนวปฏิบัติ ฉะนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะต้องหยิบยกเรื่องนี้มาเจรจาพูดคุยกับผู้ให้บริการและ กสทช. ในเชิงความเป็นไปได้ด้วย

"โดยหลัก ผมเข้าใจว่าตอนนี้เราเปิดเสรี อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ อยู่แล้ว เนื่องจากเราไม่ต้องการการผูกขาด แต่ต้องการให้เกิดการแข่งขัน เนื่องจากการแข่งขันจะช่วยเรื่องต้นทุน ดังนั้น ถ้าระบบเกตเวย์ใดมีปัญหา เกตเวย์อื่นยังสามารถเป็นช่องทางเชื่อมต่อได้ ในเชิงเทคโนโลยีแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งเน็ตเวิร์ก หรือ พึ่งพาเพียงเกตเวย์เดียว" นพ.ประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ แสดงทรรศนะต่อว่า หากรัฐบาลคำนึงถึงความมั่นคงจริง จะต้องมีทางเลือกอื่นที่มีผลกระทบน้อยลงมาหรือไม่ เพราะบางทางเลือกอาจจะได้ผลที่ต้องการ แต่จะมีผลไม่พึงประสงค์ตามมาพอสมควร ซึ่งในเชิงเทคโนโลยี ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ตลาดเดินอยู่ได้ ความมั่นคงก็ยังพอไปได้ แต่เสรีภาพก็ต้องพอไปได้ด้วย ดังนั้น ต้องมาหารือในทางปฏิบัติว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันเอกชนอยู่ภายใต้การประกอบกิจการที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะทำให้เกิดเป็นบริษัทเดียวจะทำออกมาได้ในลักษณะใด เอกชนต้องให้ข้อมูลว่าได้หรือไม่ได้อย่างไร เพราะไม่ใช่แค่เรื่องเกตเวย์ แต่รวมไปถึงท่อที่ต่อออกนอกเกตเวย์ด้วย ซึ่งขณะนี้บางบริษัทก็พยายามลงทุนไฟเบอร์ออฟติกในต่างประเทศเพื่อให้มาเชื่อมต่อ แต่หากมาบอกว่าเกตเวย์ใช้ไม่ได้ ก็จะส่งผลถึงท่อที่เขาลงทุน ซึ่งจะเป็นปัญหาไปด้วย

 

เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

9 : พ.อ.เศรษฐพงค์ แนะควรเรียก Single Gateway ว่า ศูนย์กลางดิจิตอล
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. กล่าวว่า แท้จริงแล้วเป้าหมายของรัฐบาล คือ ต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิตอลในภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้ช่องทางเชื่อมต่อของไทย แทนที่จะเป็นเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าไทยยังมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านนี้ด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ควรจะเรียก Single Gateway ว่าเป็น “ฮับ” หรือ "ศูนย์กลางดิจิตอล" จะเหมาะสมกว่า โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม (จำกัด) หรือ CAT จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ฮับ” และเมื่อมีความพร้อมก็จะเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยที่มีอยู่ราว 9 รายให้หันมาเลือกช่องทางนี้

นอกจากนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ ไม่ได้ปฏิเสธเป้าหมายเรื่องความมั่นคงของรัฐในโลกไซเบอร์ ที่สร้างศูนย์กลางช่องทางจราจรดิจิตอลที่ทำให้ง่ายต่อการรับมือแล้ว แต่ยังต้องอาศัยกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงไซเบอร์มารองรับการทำงานของรัฐ เพื่อป้องกันการโจมตีและอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ รวมถึงทำให้มีความเป็นสากลเพื่อสอดคล้องกับหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้แล้ว เช่น สหรัฐฯ

10 : นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ไทย เชื่อกระทบอีคอมเมิร์ซ 7.6 หมื่นล้านบ.
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่เห็นด้วยเลยกับการยิงเว็บไซต์ราชการให้ร่วง เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับ Single Gateway โดยมองว่าเป็นวิธีที่รุนแรงเกินไป และจะยิ่งทำให้รัฐบาลเริ่มมองว่าอินเทอร์เน็ตไทยควบคุมไม่ได้ จึงมีเหตุผลให้รัฐบาลเข้าไปจัดการ

นอกจากนี้ ยังมองว่า Single gateway จะมีผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนผ่านระบบออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 768,000 ล้านบาท ซึ่งหากใช้ระบบดังกล่าว อาจมีผลต่อความเร็วและความเสถียรในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งจะกระทบระบบอีคอมเมิร์ซ ไม่น้อยกว่า 10% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจของไทยที่จะลดลง
 

11 : ทรรศนะของคุณที่มีต่อ "Single gateway" ล่ะเป็นเช่นไร...

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top