7 การบริหารจัดการเงินอย่างสมดุลเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่ง

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1157
หางาน,สมัครงาน,งาน,7 การบริหารจัดการเงินอย่างสมดุลเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่ง

สวัสดีค่ะผู้อ่านที่รักทุกท่าน หายไปซะนาน เนื่องด้วยว่ามีโปรเจ็คในชีวิตมากมาย อีกทั้งเป้าหมายก็มากมี ที่จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อย ซึ่งในตอนนี้ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

วันนี้ผู้เขียนกลับมาพร้อมกับแนวทางการบริหารจัดการเงิน ที่ผู้เขียนใช้ในชีวิตของตนเอง

 

ต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าผู้เขียนได้แนวคิดและข้อสรุปมาจากส่วนหนึ่งในหนังสือเปลี่ยนชีวิตเล่มโปรดเล่มหนึ่งชื่อ “ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน”  โดย ที ฮาร์ฟ เอเคอร์ ใครที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ให้ถือว่าเป็นการทบทวนอีกที หรือใครที่ไม่เคยอ่านก็ถือว่าให้เป็นแนวทางบริหารจัดการเงินกันนะคะ 

 

1.เปิด “บัญชีอนาคต” (ชื่อบัญชีแต่ละบัญชีจะตั้งยังไงก็ได้นะคะ เอาที่ชอบ) แล้วหัก 10% จากรายได้ ไปใส่ในบัญชีนี้ เงินในบัญชีนี้ห้ามใช้เด็ดขาด ห้ามมีบัตรเอทีเอ็ม บัญชีนี้มีไว้เพื่อนำไปลงทุนให้เงินงอกเงย หรือเก็บออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ประกันชีวิต(ออม, บำนาญ), LTF, RMF, หุ้น เก็บตามที่ถนัด ที่สำคัญคือเงินในบัญชีนี้จะนำออกมาได้ก็ต่อเมื่อคุณเกษียณเท่านั้น

 

2.เตรียม “กระปุกมั่งมี” กระปุกนี้ผู้เขียนมีเยอะ วางทุกแห่งของบ้านที่มีที่วาง เช้าก่อนออกจากบ้านหยอด 
เย็นกลับมาถึงบ้านก็หยอด มีเหรียญ, แบงค์ ค้างในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋ากางเกง
นำมาใส่ในกระปุกนี้ หรือวันไหนรายได้มากหยอดมากหน่อย (วันไหนไม่มีรายได้ก็แคะกระปุก!!?? 
ฮา..ไม่ใช่ๆ.. วันไหนไม่มีก็ไม่ต้องหยอดก็ได้ค่ะ) สำหรับผู้มีรายได้เดือนละครั้ง
ก็ใช้เป็นแบบเศษเงินทอนตอนทานข้าวหรือเศษเงินซื้อเครื่องดื่มหรือเศษเงินค่าเดินทางก็ได้นะคะ

 

3.เปิด “บัญชีใช้แหลก” จะเปิดบัญชีหรือแบ่งเงินสดออกมาก็ได้ หัก 10% จากรายได้ ใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อหาความสุขใส่ตัว ปรนเปรอความอยากได้ของเรา อย่างที่ผู้เขียนใช้ประจำคือท่องเที่ยวค่ะ เพราะการท่องเที่ยวทำให้เราเปิดโลกทัศน์ มองโลกในแง่ดี พบเจอผู้คนใหม่ๆ เข้าใจธรรมชาติ อยู่กับตัวเอง ผ่อนคลาย มีพลังขึ้น ผู้เขียนจะไม่ใช้ 50% เที่ยวนะคะ เพราะว่าหากใช้เงินท่องเที่ยวอย่างเดียว มันมีส่วนไปเบียดเบียนเงินในอนาคตด้วย ผู้เขียนจะรู้สึกผิดมาก ที่เป็นผู้กำหนดการใช้ชีวิตที่ลำบากในภายภาคหน้า สำหรับข้อนี้จำไว้เสมอเงินในบัญชีนี้ต้องถูกใช้อย่างปราศจากข้อแม้และเหตุผล สำหรับผู้อ่านก็เลือกใช้แหลก ไม่ว่าจะเป็น นวด สปา ทำหน้า ดัดฟัน ซื้อเครื่องเพชร ซื้อทองไปทานร้านอาหารหรู ทานร้านอาหารอร่อย จ้างคนรับใช้ส่วนตัว อะไรก็ว่าไป ตามวิถีเลยค่ะ

 

4.เปิด “บัญชีหมุนเวียน” หัก 10% จากรายได้ บัญชีนี้ต่างจากบัญชีอนาคตนะคะ มันสามารถถอนเงินออกมาเป็นค่าใช้จ่าย เงินอาจมีเหลือมากน้อยหรือไม่เหลือเลยในบางโอกาสก็เป็นได้ บัญชีเงินหมุนนั่นเอง

 

5.เปิด “บัญชีเพื่อพัฒนา” หัก 10% จากรายได้ สำหรับความรู้และการศึกษาค่ะ ซื้อหนังสือ ลงคอร์สเรียน สัมมนาอะไรก็ได้ ที่จะทำให้เราหรือคนในครอบครัวได้พัฒนาต่อยอดสายอาชีพ เพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่สนใจ ความรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ อะไรก็ได้ที่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้

 

6.เปิด “บัญชีปัจจัย 4” หัก 50% จากรายได้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค จำเป็นสำหรับชีวิตค่ะต้องแบ่งออกมาไว้มากหน่อย ( แต่มีบางครั้งบางเดือน, รายได้บางก้อนที่ผู้เขียนหักตรงนี้เพียง 40% เพื่อเฉลี่ยอีก 10% ไปทาง “บัญชีอนาคต” ด้วย เพราะอัตราเงินเฟ้อมีผลต่อค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่ง 10% ในบัญชีอนาคตอาจจะไม่เพียงพอ หรือแบ่งมาที่ “กระปุกมั่งมี” )

 

7.เตรียม “กล่องเงินเพื่อสังคม” สุดท้ายนี้คือ 10% ของรายได้เพื่อผู้อื่นหรือสาธารณะประโยชน์ สิ่งที่ผู้เขียนทำประจำคือ บริจาคเด็กกำพร้ามูลนิธิ ผู้ป่วยขาดแคลน บริจาคเงินสิ่งของให้ผู้ขาดแคลนยากไร้ ทำบุญ เลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ รูปแบบของการให้มีมากมาย ใครถนัดให้แบบไหนก็ใช้วิธีในแบบของตนได้เลย  หากใครเห็นว่า 10% มากไปหรือน้อยไปก็เพิ่มลดได้ตามกำลังนะคะ แต่ต้องไม่เพิ่มและลดจนกระทบกับการจัดการเงินในบัญชีอื่นๆข้างต้นด้วย

 

เพื่อให้ง่ายขึ้นในการบริหาร รายได้ของผู้เสียภาษีอากรควรมีการคำนวณหักภาษีคร่าวๆมาแล้ว หรือใครอาจจะประยุกต์ โอนส่วนที่เป็นภาษีเข้าบัญชีข้างต้นตามความเข้าใจก็ได้ค่ะ

 

อย่างไรก็ตามหลายคนบอกว่า มีหนี้มากมายไม่มีจะให้แบ่งหรือบริหารหรอกเงินน่ะ ผู้เขียนให้ความเห็นแบบนี้ค่ะ หนี้ส่วนหนี้แบ่งไปชำระหนี้ตามลำดับความสำคัญ ถ้าคุณกังวลเรื่องหนี้จะทำให้คุณไม่ได้เริ่มบริหารเงินเลย ถ้าคุณใช้หนี้จนไม่มีเก็บหรือใช้ คุณจะเริ่มหาทางใช้เงินและเป็นคนที่สร้างหนี้แบบไม่รู้ตัวเพิ่มอีกในที่สุด เพราะจิตใต้สำนึกบอกว่าคุณขาดแคลนจากการที่ไม่มีอะไรเลย ได้มาใช้หนี้อย่างเดียว ชีวิตดูว่างเปล่า ไม่ได้ใช้จ่าย ไม่ได้ให้รางวัลกับตัวคุณเอง มีความเครียด หมดพลังและกำลังใจ เหล่านี้ผู้เขียนเคยได้รับประสบการณ์ตรงกับตัวเองมาในอดีต

 

– บัญชีอนาคต
– กระปุกมั่งมี
– บัญชีใช้แหลก
– บัญชีหมุนเวียน
– บัญชีเพื่อพัฒนา
– บัญชีปัจจัย 4
– กล่องเงินเพื่อสังคม

 

ทั้งหมดนี้คือการบริหารเงิน เก็บ ใช้ กิน เที่ยว ให้สมดุลกับชีวิต ซึ่งสามารถปรับแต่งให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ ผู้เขียนมั่นใจว่า ถ้าผู้อ่านได้เริ่มปฏิบัติหรือนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารเงินของตนเองและครอบครัว มาเริ่มกันเลยนะคะ ตั้งแต่ตอนนี้เลย

 

ขอบคุณที่มา aommoney.com

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top