5 เรื่องที่ HR ต้องบอกพนักงานให้เข้าใจ เมื่อต้องจ่ายโบนัสน้อยลง

  • 23 พ.ค. 2566
  • 6682
หางาน,สมัครงาน,งาน,5 เรื่องที่ HR ต้องบอกพนักงานให้เข้าใจ เมื่อต้องจ่ายโบนัสน้อยลง

หนึ่งในวันที่มนุษย์เงินเดือนจะรู้สึก Fin ที่สุด เห็นจะได้แก่วันเงินเดือนออกและวันโบนัสออก แม้ว่าจะ Fin ได้ไม่นานเพราะรายจ่ายรออยู่ตั้งแต่กลางเดือนแล้ว และบางรายก็ใช้เงินอนาคตผ่านบัตรเครดิตต่าง ๆ ไปหลายเดือน จนทุกวันนี้ต้องผ่อนบัตรกันจนเครียดก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า วันเงินเดือนออกและวันโบนัสออกนี้ ชวนให้หัวใจกระชุ่มกระชวย อยากจะทำงานต่อไป อยากบุกบั่นทำงานจังเลย (สำหรับบางคนนะ 555)

แต่ก็ยอมรับอยู่ว่า จะมีพนักงานจำนวนหนึ่งและไม่น้อยคนที่ฝันสลาย เพราะไม่ได้โบนัสอย่างที่คาดไว้ ที่ว่าไม่ได้นี้หมายถึงทั้ง “ไม่ได้เลย” และ “ได้ต่ำกว่าที่คิดไว้” กลายเป็นผิดคาด ตะเตือนไตสุดๆ หมดอารมณ์ทำงาน หมดใจกับการจะบุกบั่นทำงาน ใจก็เลยไม่เป็นสุข หลายคนถึงขั้นอยากจะเปลี่ยนงานใหม่กันไปเสียเลย

พอพนักงานน้อยใหญ่ได้โบนัสน้อยกว่าที่คาดคิดไว้ (ซึ่งที่จริงก็อาจจะรวม HR ด้วย) ก็เริ่มไม่สบายใจ โดยเฉพาะห้วหน้างานบางคนที่ไม่ค่อยเจนจัดกับการพูดคุยปลอบประโลมใจพนักงาน ก็มักจะโยนเผือกร้อนนี้มาให้กับ HR เป็นคนช่วยพูดคุยให้ ทั้งที่เวลาประเมินผลงานและจัดสรรเม็ดเงินเพื่อจ่ายโบนัส ก็เป็นหน้าที่ของตัวเองในฐานะหัวหน้า

แต่เมื่อมี request ซะขนาดนี้ มีทางเลือกอย่างเดียวสำหรับ HR คือต้องพยายามอธิบาย โดยคาดหวังให้ทั้งพนักงานรายหนึ่งรายใดเข้าใจ และคาดหวังว่าเขาจะบอกต่อสารของท่านไปยังคนอื่นที่มีประเด็นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านจะทำงาน Compensation & Benefit หรือไม่ จะต้องไป Support หัวหน้างาน เพื่อเคลียร์สถานการณ์ทางใจเช่นนี้ ผมมีคำแนะนำให้ท่านลองพูดหรือบอกกับพนักงานทั้งหลายให้เข้าใจในเรื่องต่อไปนี้ครับ

 

1) ความหมายของคำว่า “โบนัส”

แปลง่าย ๆ ได้ว่า หากยอดขายดีและมีกำไร หรือเติบโตตามเป้า องค์กรพอมีเงินเหลือที่จะแบ่งสรรปันส่วนจ่ายให้พนักงานได้ เราก็ได้โบนัส หากปีใดยอดขายต่ำกว่าเป้า ผลประกอบการย่ำแย่ ไหนเลยองค์กรจะมีเงินมาจ่ายโบนัสหรือจะจ่ายได้มากอย่างที่เคยจ่ายในปีก่อนๆ ได้ อย่าลืมว่าการจะได้เงินโบนัสมากหรือน้อยนั้น อิงอยู่กับผลประกอบการเป็นส่วนหลัก แม้อีกส่วนหนึ่งนั้นอิงกับผลงานของเราเอง แต่ก็มิใช่ว่าผลงานเยี่ยมแล้วจะได้โบนัส หากผลประกอบการในภาพรวมตกต่ำลง

เช่นนี้แล้วก็อย่าสร้างกับดักหรือสร้างมาตรฐานว่าทำงานแล้วจะต้องได้โบนัสทุกปี ปีนี้จ่ายมาก ปีหน้าจ่ายน้อย เศรษฐกิจถดถอยไม่จ่ายก็เป็นได้ครับ 

ขอให้คิดเสียว่า โบนัสนั้นองค์กรจ่ายเพิ่มให้จากเงินเดือนที่ว่าจ้างกันตามสัญญาจ้าง เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนการทุ่มเทตั้งใจอุทิศตนกับการทำงาน และการที่เราไม่ได้โบนัสไม่ได้หมายถึงเราไม่ตั้งใจทำงานหรือไม่มีผลงาน แต่อาจเป็นเพราะเป้าหมายภาพรวมขององค์กรไม่บรรลุอย่างที่วางไว้เป็นเหตุหลัก

ขอให้คิดเสียว่า “แม้จะได้โบนัสน้อยหรือไม่ได้เลย แต่เราก็ยังคงมีงานทำต่อไป” ดังนั้น โบนัสจะได้มาเท่าไรหรือไม่ได้นั้น ก็ต้องยอมรับให้ได้

 

2) ไม่โยนบาป

พอไม่ได้โบนัสอย่างที่คาดไว้ หลายคนตีโพยตีพายไปว่าหัวหน้าไม่เป็นธรรม โยนบาปไปให้คนอื่น ทั้งที่คนอื่นนั้นก็ประสบภาวะไม่ต่างกันมากนัก น่าคิดว่าทำไมต้องโยนบาปคนอื่นกันให้วุ่น คนอื่นมีผลกับโบนัสของเราเหนือกว่าเราทุกเรื่องเชียวหรือ โดยเฉพาะหากหัวหน้าเลือกจ่ายให้เราน้อยทั้งที่เราผลงานดีกว่าอีกคน เรามั่นใจได้อย่างไรว่าผลงานเราดีกว่าคนอื่น จริงอยู่ที่ผลการประเมินเราอาจจะดี แต่ดีเพราะเราทำงานอย่างเดียว ขณะคนอื่นที่ผลงานน้อยกว่าหน่อย แต่ทำงานใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานมาหลายเรื่องหลายครั้ง เช่นนี้ ผลงานเพื่อนอาจจะน้อยกว่าที่เราคิด แต่รับรองได้ว่าเพื่อนทำงานหลากหลายและมักจะได้คุณค่ามากกว่า

 

3) ตั้งคำถามกับสิ่งที่ผ่านมา

หากได้โบนัสน้อยหรือไม่ได้โบนัส แทนที่จะว้าวุ่นใจ ปั่นป่วนงานหรือโวยวายกับใคร ควรมองว่านี่คือโอกาสที่จะได้ทบทวนตัวเองอะไรบางอย่าง ขอให้หันกลับมาตั้งคำถามแบบบวกๆ กับตัวเองให้มาก ว่าเรายังทำงานเรื่องใดที่ไม่ได้ผลตามเป้า เรายังขาดทักษะเรื่องใดที่ต้องพัฒนาเร่งด่วนหรือเปล่า มีวิธีการทำงานอะไรที่ควรต้องปรับเพื่อให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้างหรือไม่ การคิดหาคำตอบของคำถามเช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ จะช่วยเยียวยาความไม่สบายใจของเราไปได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้เห็นบางมุมในตัวเราถี่ถ้วนมากขึ้นครับ 

 

4) ไม่ประชดด้วยการทำงานน้อยลง หรือเข้าเกียร์ว่าง

ด้วยเพราะมุมมองของผลงานระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานมักต่างกัน โดยเฉพาะกับหัวหน้างานที่ไม่ค่อยบอกความคาดหวังของเขากับพนักงาน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนให้พนักงานหงุดหงิดได้จริงๆ) และยิ่งไม่ค่อยได้ให้ Feedback หรือสะท้อนผลงานกันสักเท่าใด ก็ยิ่งชวนให้เจ้าตัวพนักงานรู้สึกไม่สบายใจกับผลการประเมินและโบนัสที่ได้รับมากเท่านั้น และลงท้าย พนักงานกลุ่มนี้มักจะปล่อยเกียร์ว่าง ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ใส่ใจหน้าที่ความรับผิดชอบ  

ท่านควรบอกกับพนักงานให้เข้าใจว่า โบนัสที่ได้รับนั้นก็สะท้อนจากผลงานที่พนักงานทำออกมา ส่วนการประเมินผลงานออกมานั้น เป็นเรื่องที่หัวหน้างานพิจารณามาแล้ว เมื่อไม่สบายใจก็ควรหาโอกาสไปพูดคุยปรับความเข้าใจ บอกสิ่งที่คาดหวังกับหัวหน้าเสียเลย แต่หากรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยกับหัวหน้าจริงๆ ก็ลองหาโอกาสไปขอพบผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปเพื่ออธิบาย หรือแม้แต่มาคุยกับทาง HR เพื่อให้ส่งผ่านประเด็นไปยังหัวหน้าอีกครั้งหนึ่ง ไม่ควรที่จะไปตอบโต้ (Retaliation) หัวหน้า หน่วยงาน เพื่อนร่วมงานหรือทำให้องค์กรในภาพรวมได้รับผลกระทบจากความไม่พอใจนั้น ยิ่งการแสดงออกกับลูกค้า จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมากับองค์กร ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ยากจะรับได้ รวมความแล้วได้ไม่คุ้มเสีย

ไม่ว่าพนักงานที่ท่านจะคุยด้วย จะเป็นคนเก่งหรือคนที่น่าจะมายื่นใบลาออกไปตั้งนานแล้ว ท่านต้องไม่เลือกปฏิบัติหรือเลือกที่จะคุยกับแค่บางคน พูดกันง่ายๆ คือท่านต้องพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

 

5) วางแผนการใช้จ่ายให้ดี ไม่ประชดด้วยการช้อปกระจาย

หลายคนเมื่อไม่สบายใจก็ช้อปปิ้งกันกระจาย รูดบัตรเครดิตกันสุดตัว เพราะเข้าใจว่าการช้อปปิ้งจะคลายทุกข์ได้ ตรงกันข้าม ทุกข์เก่าอาจจะคลายไปบ้าง แต่ทุกข์ใหม่หนักหนาตามมา เพราะรูดปื๊ด ๆ จะกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันในวันหน้ามหาศาล

หลายคนคาดเดาไปเองว่าจะได้รับโบนัสก้อนโต เลยจ่ายเงินอนาคตซื้อของใช้สารพันกันเต็มบ้านไปหมด แต่พอเปิดสลิปเงินเดือนดูถึงกับช๊อค เพราะมองเห็นหนี้ก้อนโตกว่าเงินที่ได้รับ เมื่อเป็นแบบนี้ ต้องรีบวางแผนปรับค่าใช้จ่ายกันเสียใหม่เพื่อไม่ให้ชีวิตสะดุด เน้นการจ่ายในเรื่องที่จำเป็นก่อน 

 

ขอให้เตือนสติตัวเองตรงนี้สักหน่อยนะครับ  

 

ที่แนะไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่อยากให้เราได้มองโลกจากความเป็นจริง ไม่ติดกับภาพลวงตาว่าจะต้องได้โบนัสทุกปี หรือเห็นเพื่อนเห็นองค์กรอื่นประกาศจ่ายโบนัสแล้วเราจะต้องได้เหมือนคนอื่นเขา และมองสรรพสิ่ง (โบนัส) นั้นในทางบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจ เตรียมจิตใจ ปรับทัศนคติใหม่ให้ยอมรับและเข้าใจมันได้ในทางที่ไม่ทำลายกำลังใจในการทำงานของตัวเอง ไม่เศร้าหมองเสียจนส่งผลกระทบให้งานไม่เดิน หรือตัดพ้อต่อว่าหัวหน้า เบื่อหน่ายองค์กร เพราะนั่นจะทำให้เงินในอนาคต อาจจะไม่มาอย่างที่คิด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ตราบเท่าที่เรายังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ เรื่องโบนัสจะได้มากน้อยนั้น เป็นเรื่องที่แปรผันไปตามเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ผลงานที่ดีของเราจะการันตีได้ว่า หากองค์กรประกาศจ่ายโบนัส เราจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขของการรับโบนัสที่องค์กรกำหนดไว้   

 

 

รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6

หรือ E-mail : hrbuddy@jobbkk.com (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)

 

Credit  :  อ.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต  (Professional Training & Consultancy)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top