แม้ยุคนี้จะมีคนหางานกันเยอะ แต่การจะเลือกสมัครงานกับบริษัทใด ประกาศงาน ก็คือสิ่งแรกที่คนหางานต้องพิจารณาเพื่อตัดสินใจ ถ้าไม่น่าสนใจ ไม่น่าเชื่อถือ หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ประกาศงาน นั้นก็ย่อมถูกปล่อยผ่าน
HR ที่ต้องการหาคนด่วน แต่ไม่ได้คนสมัครสักที ทั้งที่ลง ประกาศงาน ไปนานแล้ว
HR Buddy ขอพาไปดูลักษณะของ ประกาศงาน ที่ไม่น่าสมัคร ถ้าประกาศของคุณยังเป็นแบบนี้อยู่ ต้องแก้ไขด่วนเลยค่ะ
1 ต้องการทักษะสูง หน้าที่ล้น เงินเดือนน้อย : ถ้า 2 เรื่องนี้ไม่สอดคล้องกัน โชคดีอาจหาคนได้ แต่ต้องใช้เวลาแน่นอน ถ้าไม่สามารถปรับเงินเดือนให้มากขึ้น (ควรอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับบริษัทอื่น ๆ ) ก็ควรปรับลดคุณสมบัติให้ง่ายขึ้น ทักษะไหนที่เข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ก็ไม่ต้องกำหนดลงใน ประกาศงาน หรือจากเดิมที่รับเฉพาะวุฒิป.ตรี อาจเปิดโอกาสให้วุฒิปวส. (หากทักษะตรง) จากที่รับแต่คนมีประสบการณ์ อาจเปิดโอกาสให้น้องจบใหม่ด้วย ตามความเหมาะสมของตำแหน่งเลยค่ะ อยากให้ลองพิจารณาดูนะคะ
2 ทำงาน 6 วัน เงินเดือนน้อย ไม่มีสวัสดิการพิเศษ : หลายคนต้องการ งานหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ถ้าต้องทำ 6 วัน ก็ต้องแลกกับเงินเดือนที่คุ้มค่ากับเวลาหน่อย รวมถึงสวัสดิการถ้าธรรมดาเกินไป ประกาศงาน ก็ยิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ดีที่สุด ควรปรับเงินเดือนให้เหมาะสมและสวัสดิการที่พิเศษมากขึ้นค่ะ
3 ไม่ระบุเงินเดือน มักใช้คำว่า ตามตกลง ตามประสบการณ์ : ข้อมูลเงินเดือน เป็นส่วนสำคัญที่ผู้สมัครใช้พิจารณาในการเลือกสมัครงาน ถ้าไม่ระบุจำนวนที่ชัดเจน ประกาศงาน ก็มักถูกมองในแง่ลบ เช่น บริษัทนี้ต้องกดเงินเดือนแน่ ๆ ,ถ้าสมัครไปแล้วให้เงินเดือนน้อยกว่าที่ต้องการก็เสียเวลา ไม่สมัครดีกว่า ดังนั้น ต้องชัดเจนไปเลยค่ะ เช่น 15,000 ++ หรือ 15,000 – 20,000 บาท นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจแล้ว สุดท้ายจะได้ไม่เสียเวลาทั้ง 2 ฝ่ายด้วย
4 ไม่ระบุหน้าที่งานที่ชัดเจน : หรือระบุสั้น ๆ แค่ว่า ออกแบบ ,ทำบัญชี ,ทำการตลาดออนไลน์ ทำให้ผู้สมัครไม่มีข้อมูลในการนำมาพิจารณาได้มากพอ ว่าตนเองเหมาะสมกับงานนั้นรึเปล่า หรือบางครั้งก็ทำให้เกิดความสงสัยว่างานนี้ทำอะไรกันแน่ นอกจากคนจะเลื่อนผ่านแล้ว ในทางกลับกัน HR อาจต้องเจอกับปัญหาได้คนสมัครแต่ทักษะไม่ตรงด้วยค่ะ
5 ไม่ระบุคุณสมบัติที่ชัดเจน : บางคนมีทักษะพร้อม แต่ไม่รู้ว่างานนั้นรับวุฒิอะไร อายุเท่าไร ต้องมีประสบการณ์กี่ปี โอกาสที่เขาจะเลือกสมัครงานก็น้อยลงค่ะ หรือสุดท้ายก็เกิดปัญหาคล้ายกับข้อ 4 เลย คือได้คนที่คุณสมบัติไม่ตรงเข้ามานั่นเอง
6 ไม่ระบุสถานที่ปฏิบัติงาน : หลายคนอยาก หางานใกล้บ้าน หรือถ้าไกลหน่อยก็อยากรู้ว่าเดินทางสะดวกไหม ถ้าไม่ระบุเลยก็ทำให้เขาตัดสินใจได้ยากค่ะ หรือแม้จะได้คนเข้ามาสัมภาษณ์ ก็อาจต้องปฏิเสธกันทีหลัง เพราะสถานที่ทำงานไม่สะดวกสำหรับเขาค่ะ
7 ไม่ระบุสวัสดิการพิเศษ : ถ้ามีเฉพาะสวัสดิการพื้นฐานก็ยากที่จะเข้าตาผู้สมัคร เพราะหลายบริษัทก็แข่งกันด้วยเรื่องนี้ ใครน่าสนใจกว่าก็ดึงดูดคนได้ง่ายกว่า บริษัทไหนไม่น่าสนใจคนก็ไม่อยากสมัคร
8 ชื่อตำแหน่งงานเข้าใจยาก ไม่รู้ว่าเป็นงานอะไร : เช่น ชื่อที่รู้จักเฉพาะในบริษัท ชื่อที่ไม่บ่งบอกหน้าที่ อาทิ พนักงานประจำสาขา หรือชื่อที่ยาวเกินไป ทำให้ไม่แน่ใจว่างานนี้ทำอะไร ทำให้ชวนคิดไปด้วยว่า หน้าที่ต้องเยอะมากแน่ ๆ ประกาศงาน ก็น่ากลัวแล้ว เข้าไปทำงานจะขนาดไหน
9 ขาดโลโก้บริษัท หรือไฟล์ภาพไม่ชัดเจน : เป็นส่วนที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับ ประกาศงาน และยังสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพของบริษัทด้วย ถ้าขาดส่วนนี้ไปก็ส่งผลให้คนไม่กล้าสมัครค่ะ
10 ยินดีรับนักศึกษาจบใหม่ แต่ต้องมีประสบการณ์ 1 ปีขึ้นไป : ทำให้ผู้สมัครไม่แน่ใจว่ารับสมัครคุณสมบัติแบบไหนกันแน่ โดยเฉพาะน้องจบใหม่ที่กำลังหางาน มาเจอแบบนี้ก็ไม่กล้าสมัคร เพราะมองว่าตัวเองยังไม่มีประสบการณ์ ซึ่งหากแท้จริงแล้ว ประกาศงาน นั้นเปิดรับน้องจบใหม่ หากระบุไม่ชัดเจนแบบนี้ก็เป็นการปิดโอกาสในการได้น้อง ๆ เข้ามาสมัคร ไปโดยปริยายเลยค่ะ
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด